MAIN MENU >

> NewsDetail

กัญญดา งึมกระโทก
28 Aug 2017

คอลัมน์ สดจากเยาวชน: สอนเพื่อนต่างชาติ นุ่งโจงกระเบน-รำวง


คงมีโอกาสไม่บ่อยนักที่จะได้สอนเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ "นุ่งโจงกระเบน"และ "รำวงมาตรฐาน"
          เมื่อไม่นานนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับสถาบันเครือข่ายทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ จัดโครงการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติการ และมหกรรมศิลปะดนตรีครั้งที่ 7 "Culture and Arts Festival 2017" โดยมีนิสิตนักศึกษาด้านนาฏศิลป์จาก 9 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ภูฏาน รัสเซีย เม็กซิโก อินเดีย มาเลเซีย บรูไน และอุซเบกิสถาน เดินทางมาร่วมงาน
          "ภาคภูมิใจและประทับใจค่ะ สิ่งสำคัญ คือได้มิตรภาพ เรามีโอกาสสอนนักศึกษา ต่างชาตินุ่งโจงกระเบนและรำวงมาตรฐาน เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการจริง ในฐานะที่เราเรียนครูและเมื่อสำเร็จการศึกษาต้องไปเป็นครูสอนนาฏศิลป์ ทำให้เราเห็นว่าไม่ว่าลูกศิษย์เราจะเป็นใคร เราต้องสอนและฝึกฝนให้เขาลงมือทำจริงอย่างเข้าใจ สนุกและมีความสุขกับนาฏศิลป์ไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติ" น้ำทิพย์ น.ส.วริศรา พรรณนารักษ์ อายุ 21 ปี นิสิตปีที่ 4 สาขานาฏศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว บอกเล่า
          ในฐานะเจ้าภาพน้ำทิพย์ยังมีโอกาสแสดงต้อนรับเพื่อนนักศึกษาต่างชาติในชุด 'ไภรีรำมะนา' อวดลีลาท่ารำการตีกลองรำมะนาของภาคใต้ด้วยท่วงท่า ที่สวยงามพร้อมเพรียง
          น้ำทิพย์บอกเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า ได้เรียนรู้การแสดง ของแต่ละประเทศด้วย อย่างเช่นประเทศรัสเซียมีการเต้น โดยใช้เท้าเป็นส่วนใหญ่ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการปรบมือ ในหลากหลายรูปแบบประกอบจังหวะเพลงที่สนุกสนาน และยังได้เรียนรู้เครื่องดนตรีของประเทศอินเดีย
          "การเรียนรู้นอกชั้นเรียนผ่านการลงมือและปฏิบัติจริงสำคัญมากและจะอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม เหมือนเช่นเพื่อนๆ ต่างชาติ จะจดจำการนุ่งผ้าโจงกระเบนและรำวงมาตรฐานแบบไทย" น้ำทิพย์กล่าวด้านหมู น.ส.ผกามาศ แซ่โล้ อายุ 21 ปี นิสิตปี 4 นาฏศิลป์ศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว เล่าว่าประทับใจ ภูมิใจ และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ นอกจากการเป็นนักแสดงแล้วยังได้ฝึกอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การเตรียมงาน ติดต่อประสานงาน ฝึกความรับผิดชอบ และยังได้เพื่อนใหม่จากหลายประเทศหลายสถาบัน ที่สำคัญมากคือได้สอนเพื่อนๆ นุ่งผ้าโจงกระเบน สอนรำวงมาตรฐาน ทำให้เห็นว่าเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม เรียนรู้ และทำความเข้าใจได้ผ่านการดูและลงมือสัมผัสจริง
          "นับเป็นความโชคดีของพวกเราชาว มศว ที่เพื่อนต่างชาติจากหลายประเทศเดินทางมาที่ประเทศไทย มาซึมซับความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรมการแสดงต่างๆ การอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เพื่อนใหม่เข้าใจความเป็นไทยจึงมีความหมายมาก"
          นอกจากหมูจะแสดง "ไภรีรำมะนา" ร่วมกับน้ำทิพย์แล้ว หมูยังร่วมการแสดง "นัว" ที่นำเอาบทอัศจรรย์มาตีความ และการแสดงชุด "พระหริหระ" สื่อถึงความเชื่อและความศรัทธา
          สีหน้าและแววตาของสองสาวจากสาขานาฏศิลปศึกษา และเพื่อนๆบ่งบอกให้รู้ว่าอิ่มอกอิ่มใจแค่ไหนที่ได้สอนเพื่อน ต่างชาติให้รู้จักศิลปวัฒนธรรมไทย และภูมิใจที่เป็นตัวแทนคนไทยบอกให้ต่างชาติรู้ว่าการแสดงในแต่ละชุดล้วนมีความเป็นมาทั้งสิ้น