MAIN MENU >

> NewsDetail

กันตพงศ์ พุ่มอยู่
12 Sep 2017

5 ดีไซเนอร์ดังออกแบบแฟชั่นจากผ้าไทย


5 ศิลปินและนักออกแบบชั้นนำระดับประเทศ อาทิ จิตต์สิงห์ สมบุญ, คุณพลัฎฐ์ พลาฏิ, คุณเอก ทองประเสริฐ (ดีไซเนอร์เจ้าของห้องเสื้อ Ek Thongprasert ผศ.ศีมาศ ประทีปะวณิช (ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์พิเศษด้าน การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ) และ ผศ.ดร. กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผ้าไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ร่วมแสดงผลงานการออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าจากผ้าไทยชนิดต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจเปิดมุมมองโลกของการออกแบบผ้าไทยหรือการนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตคนยุคปัจจุบัน
          จิตต์สิงห์ สมบุญ (Artist and Fashion Creative Consultant) หัวหน้าฝ่ายออกแบบ บริษัทเกรฮาวด์ ดีไซเนอร์ระดับโลก ในผลงานศิลปะภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 "พ่อพิมพ์ของชนชาวไทย-แม่พิมพ์ของชนชาวไทย" ขนาด 120X100 ซม. เทคนิคสีอะคริลิก บนผ้าไหมทอยก เผยว่า"ผมต้องการนำผ้าไหมมาสร้างผลงานให้นอกเหนือไปจากการใช้งานปกติในรูปแบบจิตรกรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างต้นแบบให้กับคนรุ่นต่อไป เกิดแรงบันดาลใจต่อยอดไปเป็นผลงานได้ตลอดไป ตัวบล็อกที่เราใช้เป็นตัวต้นแบบในการสร้างผลงานหลากหลาย เช่น บล็อกของศิลปินกราฟฟิตี้ ฯลฯ ซึ่งมักถูกมองข้ามไป ไม่ได้ถูกให้ความสนใจเท่ากับตัวผลงานที่ปรากฏ ผมมองเห็นความสำคัญ มองเห็นความหมายที่น่าสนใจและมองเห็นความงาม"
          พลัฎฐ์ พลาฏิ (Fashion Direcctor and Founder REALISTIC SITUATION) ดีไซเนอร์ชื่อดังได้รับรางวัลระดับโลก MANGO FASHION AWARDS 2012 กับผลงานชื่อ I Smell You On My Skin : The Living Traidition เพื่อสืบสานพระปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นของภาคอีสาน เผยว่า "การนำผืนผ้าที่เป็นรากเหง้าแห่งภูมิปัญญาชนบทจากศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ สู่การออกแบบในรูปแบบสากล โดยผลงานชุดนี้ได้เผยแพร่ในนิตยสาร VOGUE จากผ้าไหมมัดหมี่ย้อมครามอุดรธานี"
          เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และนักออกแบบระดับโลก และเจ้าของแบรนด์ EK Thongprasert  กับการออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายจากผ้าไทย ในชื่อ "การทักทายของบทสนทนาที่สาบสูญ" เผยว่า เพื่อแสดงแนวทางการใช้ผ้าไหม ในวิถีชีวิตปัจจุบัน "ผมเลือกใช้วัสดุหรือ สื่อที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานชุดพิเศษเพื่องานนี้คือ ไหมแต้มหมี่ จากกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น กับเสื้อผ้าส่วนตัวของผมเอง ผลงานครั้งนี้เกิดจากการแนะนำตัวอันแสนเร่าร้อนของผ้าไหม แต้มหมี่ ไหมไทยยุคใหม่ผ่านการพบเจอในโซเชี่ยลมีเดีย ที่ก่อกำเนิดอย่างงดงามจากพ่อแม่ที่แก่เฒ่าแต่แสนเก๋นามผ้าไหมมัดหมี่ ที่สวยวิจิตรบรรจงที่มักปรากฏตัวพร้อมกับคุณนายภริยาของผู้คนในชนชั้นผู้นำภายในงานราตรีสโมสร แต่ไร้ตัวตนภายใต้ชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตาในสังคมที่ถูกแบ่งแยกซ้อนทับด้วยความแตกต่างจากภาวะเศรษฐกิจ การทักทายของบทสนทนาที่สาบสูญในครั้งนี้ เสมือนกับบทเกริ่นนำของผู้ออกแบบเองที่พยายามจะแนะนำสมาชิกใหม่ให้กับสมาชิกดั้งเดิมในตู้เสื้อผ้าของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยการจำแลงแปลงกายผ้าไหมแต้มหมี่อันงดงามและบริสุทธิ์ให้มีรูปแบบที่ร่วมสมัย หวังว่าจะขยายกลายร่างเป็นรูปแบบการแต่งกายที่ร่วมสมัย เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ กับผู้คนมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย"
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศีมาศ ประทีปะวณิช อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในผลงานเสื้อผ้าสตรีจากผ้าไหม ผ้าเปลือกไหมและผ้าฝ้ายทอมือ ของไทย ในชื่อ "Urban Wrapping" เผยว่า เพื่อให้เป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ผ้าไทยสำหรับปัจจุบันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าไหว้ของคุณแม่ "แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นเสื้อผ้าไทยชุดนี้ทำขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เป็นการนำความเป็นของขวัญของผ้าไหว้ของผ้าและการนุ่งผ้าไทยแบบผสมผสาน มาประยุกต์ด้วยวิธีการสร้างแบบตัดให้เป็นเสื้อผ้าสตรีร่วมสมัยสำหรับคนเมือง โดยใช้โครงร่างเงาที่เรียบง่าย เล่นสีสันและลวดลายของผ้าทั้งในแบบกลมกลืนและขัดแย้งกัน รวมทั้งนำลูกเล่นของการนุ่งผ้าเกี้ยว การใส่ผ้าถุงนุ่งผ้าซิ่น การป้ายผ้า การจับจีบ มาผสมผสานลงในผลงานด้วย"
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผ้าไทย ในผลงานการแสดงชุดผ้าซิ่นม่านมุก จุมออน : การประยุกต์สิ่งทอทางวัฒนธรรม โดยได้อธิบายว่า จุมออน มีความหมายว่า ความสว่างและสดใส ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบประยุกต์จากผ้าซิ่นม่านโบราณ ทั้งโครงสร้าง กลุ่มสีจากรสนิยมชาวน่านมาเป็นตัวตั้งด้วยการดึงกลุ่มสีจากหัวโขนเรือ จัดสีลงในโครงสร้างซิ่นม่าน ลวดลายเนื้อฝ้ายที่มีรายละเอียดเนื้อสัมผัสธรรมชาติ ความตั้งใจในการย้อมสีบางส่วนไม่เท่ากันเพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบเท่าที่ย้อมด้วยแรงงานคน การใช้กี่ไม้แบบโบราณ ทอและเย็บด้วยมือ เพื่อให้คงลักษณะของสุนทรียะทางความงามแบบซิ่นเมืองน่านตามจารีต ซึ่งถือเป็นซิ่นที่มีโครงสร้าง สัดส่วน รวมไปถึงเทคนิคและลวดลายในการทอที่งดงาม"
          ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการได้ที่ หอนิทรรศการ g23 ชั้น 3 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร ถนนสุขุมวิท 23 ทุกวันอังคารอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 11.00-18.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย